ในการทำสงครามก็ย่อมต้องมีการวางแผนการรบเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย อาจใช้การดูจุดอ่อนของฝั่งตรงข้าม มองหาจุดอ่อนของเราเองเพื่อจะได้ระมัดระวังตัว ดูโอกาสที่จะเอาชนะ หรือดูจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้เราได้เปรียบ
ในสงครามธุรกิจก็ไม่ต่างกัน การวางแผนการตลาดถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ เพราะการเดินหน้าลุยทำธุรกิจแบบไม่มีการวางแผนก็มีสิทธิเกิดความผิดพลาด หรืออาจเกิดผลดีต่อธุรกิจน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเวลาและทรัพยากรที่ลงทุนไป ความสำคัญของการทำแผนการตลาดจึงอยู่ที่การดูความเป็นไปของธุรกิจในตลาดที่เรากำลังจะลงไปแข่งขัน ทำความเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเราเอง โอกาสและความเสี่ยง และการกำหนดกลยุทธ์ในการทำงานเพื่อให้เกิดผลดีและผลกำไรสูงสุด
ต่อไปนี้คือองค์ประกอบของแผนการตลาดว่าควรมีลักษณะอย่างไร และควรมีเนื้อหาอะไรในแต่ละส่วนบ้าง
1. สถานการณ์การตลาดในปัจจุบัน
องค์ประกอบแรกของแผนการตลาดนั้นได้แก่ภาพรวมของสถานการณ์การแข่งขันในตลาดธุรกิจในกลุ่มเดียวกันกับธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย ต้นทุน กำไรของคู่แข่ง ช่องทางในการขาย รวมถึงอิทธิพลต่างๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจ ทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลส่วนนี้ไปทำการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ หรือที่เรียกว่าการวิเคราะห์ SWOT ต่อ โดยข้อมูลส่วนนี้จะเป็นการรายงานสถานการณ์และข้อมูลต่างๆ เท่านั้น จะยังไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ
2. การวิเคราะห์โอกาสทางการตลาด
นี่คือส่วนที่เริ่มนำข้อมูลจากหัวข้อที่แล้วมาวิเคราะห์ SWOT หรือก็คือ S-Strength (จุดแข็งของธุรกิจ ), W-Weakness (จุดอ่อนของธุรกิจ) , Opportunity (โอกาสของการทำธุรกิจ) และ Threats (อุปสรรคในการทำธุรกิจ) เพื่อดูว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเหมาะสำหรับการลงทุนและการแข่งขันหรือไม่ มีประเด็นอะไรที่ต้องระวังเป็นพิเศษ หรือบางกรณีอาจจะเห็นว่ามีโอกาสที่น่าสนใจที่ธุรกิจเราควรจะรีบเข้าไปจับ
3. วัตถุประสงค์
ส่วนนี้จะเป็นการกำหนดผลลัพธ์ของธุรกิจที่เราต้องการตามช่วงระยะเวลาของแผนการตลาดที่เราตั้งเอาไว้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายโดยรวมของกิจการ เป้าหมายของแต่ละด้านในธุรกิจอย่างการเงินเช่น ยอดขาย หรือกำไร ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดที่ตั้งไว้ในแต่ละส่วนควรมีลักษณะที่สอดคล้องกัน
4. กลยุทธ์ทางการตลาด
S-Segmentation คือการแบ่งส่วนของการตลาด โดยนิยมใช้ 4 ลักษณะดังนี้
1. แบ่งตามภูมิศาสตร์ ว่าเป็นในเมืองหรือชนบท
2. แบ่งตามประชากรศาสตร์ ตามเรื่องของอายุ เพศ หรือรายได้
3. แบ่งตามจิตวิทยา ดูตามฐานะทางสังคม หรือรูปแบบการดำเนินชีวิต
4. แบ่งตามพฤติกรรม สังเกตจากโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อว่ามีความถี่แค่ไหน และความภักดีต่อแบรนด์มีมากเพียงใด
T-Targeting เป็นการกำหนดเป้าหมายในการทำการตลาด โดยเรามีหน้าที่ต้องมองให้ขาดว่าผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเราเป็นใคร และต้องผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในลักษณะใดเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา
P-Positioning คือการวิเคราะห์ว่าเราอยู่ตำแหน่งใดในตลาด เรามีความโดดเด่นทางด้านไหน หรือแม้กระทั่งว่าเราต้องการอยู่ที่จุดใดในใจของลูกค้า เพื่อดึงจุดแข็งและสร้างจุดเด่นนั้นให้กลายเป็นภาพลักษณ์ของเราไปอยู่ในใจของลูกค้า
5. แผนการดำเนินงาน
นี่คือส่วนที่เราจะอธิบายว่าเราจะนำกลยุทธ์การตลาดที่กำหนดไว้มาทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร โดยอธิบายกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่เราจะลงมือทำงานจริงๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งองค์ประกอบของแผนที่ดีต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้ “ทำอย่างไรสำเร็จ” “ใช้ระยะเวลาเท่าใด” “ใครเป็นผู้ดำเนินงาน” “ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร” และที่สำคัญคือ “มีวิธีวัดผลความก้าวหน้าได้อย่างไร (KPI)”
6. แผนทางการเงิน
7. แผนควบคุมการปฏิบัติงาน
องค์ประกอบสุดท้ายของแผนการตลาด เป็นการควบคุมดูแลและปรับปรุงการปฏิบัติงาน เพื่อที่จะได้ตรวจสอบและทบทวนผลที่ออกมาจากระบวนการที่ทำและดำเนินตามความจำเป็น ซึ่งถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดหรือไม่เป็นตามแผนที่วางไว้ ก็ยังสามารถเตรียมแผนสำรองมารองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดสงครามราคาเมื่อมีคู่แข่งตัดราคาหรือมีกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ทำให้เราเสียเปรียบในระยะยาว การถูกลอกเลียนแบบสินค้าโดยไม่ผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการที่กลุ่มพนักงานรวมตัวหยุดงานก็เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่เราควรมีแผนรับมือไว้บ้าง